วีรชน ยัน สถานการณ์อุยกูร์ในตุรกียังคุมได้ ผุดแนวคิดเชิญ ICRC

7/10/2558 Unknown 0 Comments


วีรชน ยันสถานการณ์อุยกูร์ในตุรกียังควบคุมได้ ไม่ต้องอพยพ เผย ปิดสถานกงสุล-สถานทูตฯ ชั่วคราว 1 วัน ระบุ “ไทย-จีน” ผุดแนวคิดเชิญ “ไอซีอาร์ซี” เข้าร่วมสังเกตการณ์อุยกูร์ที่ถูกส่งกลับจีน
วันที่ 10 ก.ค. เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงสถานการณ์ล่าสุดกรณีชาวอุยกูร์บุกทำลายสถานกงสุลไทยในกรุงอิสตันบูล ประจำประเทศตุรกี เพราะไม่พอใจทางการไทยที่ส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน ว่า สถานการณ์ล่าสุดในเรื่องความปลอดภัยและความรุนแรง ขณะนี้ยังไม่มีอะไรลุกลามบานปลาย สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่กระทบถึงขั้นต้องมีการอพยพคนไทยกลับประเทศ ขณะที่ทางการตุรกีก็ให้ความร่วมมือกับทางการไทยในการประสานงานอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ในนครอิสตันบูล และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแองการา ตรงนี้ไม่มีอะไรที่น่าห่วง
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมยังไม่มีคนไทยหรือนักท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากความรุนแรงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ได้ปิดสถานกงสุลไทย กรุงอิสตันบูล และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแองการา เป็นการชั่วคราว 1 วัน เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อน เนื่องจากมีความเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของบุคลากร และเพื่อความสบายใจของเจ้าหน้าที่ ลดความกดดันในการทำงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุด ทางตุรกีได้ออกแถลงการณ์ค่อนข้างกระทบต่อความรู้สึกของคนไทย ทางการไทยได้มีการตอบโต้อย่างไรหรือไม่ พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ไม่ได้มีการเตรียมตอบโต้อะไร แต่เราอยากทำความเข้าใจกับเขาว่า ก่อนที่จะออกแถลงการณ์ฉบับนั้นควรคิดให้รอบคอบว่า ที่ผ่านมาไทยให้การช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกชาวอุยกูร์ ที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติไปแล้วอย่างไร เมื่อชัดเจนว่า เป็นชาวตุรกีเราก็ส่งกลับประเทศไปตามที่ต้องการ สำหรับแถลงการณ์ของตุรกีมองว่า เขาคงมีเหตุผลในฐานะที่เป็นรัฐบาล เวลามีกระแสกดดันจากสังคมในลักษณะนี้หากรัฐบาลนิ่งเฉยก็จะสูญเสียเรื่องความนิยม เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ไม่อยากให้นำปัญหาการเมืองในประเทศมาปะปนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และทางตุรกีควรจะออกหนังสือขอบคุณเราด้วยซ้ำ ว่า สิ่งที่เราทำให้ส่งผลดีต่อเขาอย่างไร ทั้งนี้ ในส่วนของเราก็พยายามประสานทำความเข้าใจกับเขาอยู่และขอให้เขาเข้าใจเราด้วย
เมื่อถามว่า การออกแถลงการณ์ตุรกีจะส่งผลกระทบต่อสายตาต่างชาติที่มองไทย จะใช้ช่องทางไหนในการชี้แจงความจำเป็นในการดำเนินการของไทย หรือไม่ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย มีความพร้อมในการชี้แจงอยู่แล้ว และได้มีการพูดคุยกับเอกอัคราชทูตตุรกีประจำประเทศไทย ถึงสถานการณ์ ข้อกังวล รวมถึงท่าทีต่างๆ ที่ออกมา ซึ่งกระทบต่อความรู้สึก เราคงไม่ใช้เรื่องความรู้สึกอย่างเดียวมาปะปนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราจะไม่ทำให้เรื่องนี้กระทบต่อความสัมพันธ์ อย่างน้อยต้องมีการสื่อสารว่า ท่าทีแบบนี้เหมาะสมถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้แต่ละประเทศมีค่านิยมและการปฏิบัติที่ต่างกัน ซึ่งเราก็ทำความเข้าใจเขา ชาวอุยกูร์เป็นชาติกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องได้รับความดูแลจากตุรกี แต่ชาวตุรกีส่วนใหญ่ของประเทศ ตนได้รับข้อมูลยืนยันว่ายังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีมิตรภาพที่แน่นแฟ้นต่อกัน ในสถานการณ์ละเอียดอ่อนก็ต้องแจ้งเตือนให้คนไทยระมัดระวัง หลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่มีการเคลื่อนไหวของชาวอุยกูร์
ถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ไทยจะมีการป้องกันการอพยพของชาวอุยกูร์ไม่ให้เข้ามาในไทยง่ายขึ้นหรือไม่ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้มีการเข้มงวดในจุดผ่านแดนต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยเรามีพรมแดนทางบกมากกว่า 5,500 กม. มีหลายจุดที่สามารถเข้ามาได้โดยง่าย ในพื้นที่ห่างไกลที่เราไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อถามว่า ถึงเวลาที่เราต้องดำเนินการจริงจังหาคนที่อยู่เบื้องหลัง เหมือนกรณีชาวโรฮีนจาหรือไม่ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตั้งแต่เรามีมาตรการต่างๆ ด้านการค้ามนุษย์ มีการบังคับใช้กฎหมาย ตรงนี้เราก็ยังดำเนินการอยู่
เมื่อถามว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ออกแถลงการณ์แสดงความตกใจที่ทางการไทยส่งชาวอุยกูร์ไปยังประเทศจีน พล.ต.วีรชน กล่าวว่า เรามีคำชี้แจง เมื่อชาวอุยกูร์เข้ามา ทางจีนก็ได้ขอให้เราส่งไปทั้งหมด ซึ่งเราได้ปฏิเสธว่าทำไม่ได้ ต้องมีการพิสูจน์สัญชาติก่อน แต่ในกรณีที่มีการพูดจาติเตียนไทย ว่า ไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมนั้น อยากให้ถามก่อนว่า เรามีหลักเกณฑ์ ข้อพิจารณาในเรื่องเหล่านี้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่เราต้องชี้แจงให้ทราบ และเร็วๆ นี้ทางฝ่ายความมั่นความไทยจะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเยี่ยมเยียนผู้ที่ถูกส่งตัวกลับว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ตรงนี้ทางจีนเองก็เห็นชอบ และเรายังมีแนวความคิดที่กำลังหารือกับจีนว่าจะเชิญองค์กรนานาชาติ อย่างคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี เข้ามาร่วมรับรู้สถานการณ์ชาวอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปในประเทศจีน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไทยไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เวลาที่เราต้องแบกภาระในการดูแลคนเหล่านี้ กลับไม่มีความชมเชย และตนเชื่อว่า การดูแลของไทยหากเป็นประเทศอื่นก็คงตัดสินใจไม่แตกต่างจากเรา.



ที่มา thairath

You Might Also Like